ขอบคุณข้อมูลจากblog เที่ยวกินin jpapan
เลิกงงซะที ในสถานีรถไฟญี่ปุ่น!!
หลายคนมาเที่ยวญี่ปุ่นก็คงหนีไม่พ้นต้องใช้รถไฟในการเดินทางเป็นหลัก เพราะมันสะดวกและไปได้ทั่วถึงทุกที่ สำหรับนักท่องเที่ยวมือใหม่คงจะงงกับระบบรถไฟของญี่ปุ่น ไม่ใช่เฉพาะแค่มือใหม่หัดเที่ยว ขนาดมือเก่าที่เคยมาเที่ยวญี่ปุ่นบ้างแล้วบางคนยังมีอาการมึนงง นั้นเป็นเพราะมันมีรถไฟหลายประเภทหลายสายมากๆ แค่ยืนดูแผนผังรถไฟก็งงแล้ว วันนี้เรามาบอกวิธีการสังเกตง่ายๆในการทำความเข้าใจระบบรถไฟของญี่ปุ่น เพื่อจะขึ้นรถไฟแล้วไม่งงไม่หลงอีกต่อไป
ทำความรู้จักกับประเภทของรถไฟต่างๆในญี่ปุ่นกันก่อน
ถ้าจะให้แบ่งประเภทรถไฟในญี่ปุ่นก็อาจจะแบ่งได้หลักๆเป็น 3 ประเภท
1. รถไฟ JR
2. รถไฟความเร็วสูง(Shinkansen)
3. รถไฟใต้ดิน(Subway)
ที่ต้องการแบ่งให้เห็นชัดเจนอย่างนี้เพราะรถไฟแต่ละประเภทจะมีชานชาลา(Track)และมีรางวิ่งเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่าง เช่นถ้าคุณต้องการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง(Shinkansen) คุณก็ต้องเดินไปขึ้นที่ชานชาลาเฉพาะของรถไฟ Shinkansen นั้นเอง
เรามาลองทำความรู้จักรถไฟแต่ละประเภทให้มากขึ้น
รถไฟ JR
เป็นเครือข่ายรถไฟที่วิ่งอยู่ทั่วประเทศ ทั้งวิ่งในตัวเมืองและวิ่งข้ามจังหวัด ถ้าเราใช้โปรแกรม Hyperdia หารอบรถไฟ ขบวนที่มีรูปรถไฟสีเขียวนั้นแหละคือรถไฟของ JR ทุกจังหวัดแทบจะทุกเมืองมีสถานีของ JR แทบทั้งสิ้น เป็นเครือข่ายรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวใช้เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วประเทศญี่ปุ่น
ตัวอย่างขบวนรถไฟเครือข่ายของ JR ในโปรแกรม Hyperdia
ตัวอย่างทางเข้าออกชานชาลาของรถไฟ JR
รถไฟความเร็วสูง (Shinkansen)
มีเครือข่ายรถไฟครอบคลุมแทบจะทุกภูมิภาคของญี่ปุ่น(ยกเว้นภูมิภาคชิโกกุ) รถไฟประเภทนี้ใช้สำหรับเดินทางข้ามจังหวัดข้ามภูมิภาคซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทาง โดยปกติชานชาลาของ Shinkansen จะอยู่ในอาคารเดียวกันกับสถานีรถไฟ JR เวลาเดินเข้าไปในสถานีรถไฟ JR ให้สังเกตป้ายสัญลักษณ์บอกทางเดินไปยังชานชาลาของ Shinkansen ตามรูปด้านล่าง ในบางสถานีสัญลักษณ์รูปรถไฟอาจจะแตกต่างกันไป แต่ก็จะมีคำว่า "Shinkansen" เขียนกำกับไว้
ตัวอย่างป้ายแสดงสัญลักษณ์บอกทางไปชานชาลาของรถไฟ Shinkansen
ตัวอย่างทางเข้าออกชานชาลาของรถไฟ Shinkansen
รถไฟใต้ดิน (Subway)
เป็นระบบเครือข่ายรถไฟที่วิ่งอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น โตเกียว โอซาก้า ฟูกูโอกะ ฮอกไกโด เกียวโต เป็นต้น โดยเฉพาะโตเกียวและโอซาก้าจะมีเครือข่ายรถไฟใต้ดินหลายสายค่อนข้างซับซ้อน แต่ละสายจะแทนด้วยเส้นสีและมีชื่อเฉพาะ
ตัวอย่างแผนผังเครือข่ายรถไฟใต้ดินในโตเกียว
ชานชาลาของรถใต้ดินหรือที่เรียกว่า Subway ในบางสถานีใหญ่ๆของ JR ก็จะมีทางเดินต่อเนื่องให้เดินลงไปถึง Subway ได้เลย เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนขบวนรถไฟไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ โดยให้สังเกตุป้ายสัญลักษณ์ที่เขียนว่า "Subway" หรือบางที่ก็จะแสดงเส้นสีและชื่อขบวนรถไฟ Subway ที่วิ่งผ่านและเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ JR นั้นๆ(เราอาจจะต้องเดินออกมาจากพื้นที่ของ JR ก่อนจึงจะเริ่มมีป้ายสัญลักษณ์ของ Subway ให้เราสังเกต)
ตัวอย่างสถานีรถไฟ JR ที่มีทางเชื่อมไปยังชานชาลาของ Subway อยู่ภายในอาคาร
ตัวอย่างของสัญลักษณ์ขบวนรถไฟ Subway มีลักษณะเป็นวงกลมสีๆและมีชื่อขบวนกำกับ
ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนขบวนรถไฟจากรถไฟของ JR ไปขึ้นรถไฟใต้ดิน Subway ถ้าภายในสถานีรถไฟ JR ไม่มีทางเดินเชื่อมต่อไปยัง Subway ลองเดินออกมานอกอาคารด้านหน้าสถานี โดยปกติก็จะมีทางเดินลงไปยังชานชาลาของ Subway นอกจากนี้เรายังสามารถเห็นทางเข้าออกสถานีรถไฟ Subway ตั้งอยู่ตามถนนหนทางทั่วไปอย่างในภาพด้านล่าง
ตัวอย่างทางเข้าออก Subway ที่อยู่นอกอาคารสถานี JR
ตัวอย่างขบวนรถไฟสีแดงใน Hyperdia ที่เป็นเครือข่ายรถไฟ Subway
ป้ายไฟแสดงรอบขบวนรถไฟต่างๆโดยปกติจะมีอยู่ในสถานี JR และ Shinkansen ป้ายไฟแบบนี้บอกอะไรเราบ้าง มาดู!! จากตัวอย่างข้างล่าง
1. บอกชื่อขบวนรถไฟ
2. บอกเวลาที่รถไฟจะออก (ไม่ใช่เวลาที่รถไฟมาถึงนะ เข้าใจให้ถูกเดี๋ยวตกรถไฟ)
3. บอกสถานีปลายทาง
4. บอกหมายเลขชานชาลา ว่าขบวนดังกล่าวถ้าจะขึ้นต้องไปขึ้นที่ชานชาลาเบอร์นี้
5. บอกให้เรารู้ว่าในรถไฟขบวนนี้มีโบกี้ไหนบ้างที่ไม่ต้องสำรองที่นั่ง
การที่เราจะรู้ว่าเราควรจะนั่งขบวนไหน เราควรจะต้องค้นหาขบวนรถไฟและรอบเวลาจากโปรแกรม Hyperdia มาก่อน เมื่อเราทราบชื่อขบวนและรอบเวลาแล้ว เมื่อถึงสถานีรถไฟให้เราดูเปรียบเทียบกับป้ายไฟบอกเวลาที่สถานีอีกทีเพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องเดินไปที่ชานชาลาหมายเลขอะไร ภาพข้างล่างเป็นการเทียบให้เห็นวิธีการดูรอบและขบวนรถไฟระหว่างโปรแกรม Hyperdia กับป้ายไฟที่สถานี
ในบางครั้งที่เราหาขบวนรถไฟและรอบเวลาในโปรแกรม Hyperdia มันจะแสดงหมายเลขชานชาลาให้เรารู้เลยว่าถ้าเราจะขึ้นขบวนนี้ต้องไปขึ้นที่ชานชาลาหมายเลขอะไร แต่มันจะไม่เสมอไปทุกครั้ง เพราะในบางครั้งที่เราค้นหามันก็ไม่แสดงขึ้นมาให้เรารู้ นั้นเป็นเพราะทราบแค่ว่ารถไฟขบวนดังกล่าวมาตามเวลาแน่ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเข้าจอดในชานชาลาไหนนั้นเอง อย่างไรก็ตามไม่ว่าโปรแกรม Hyperdia มันจะแจ้งหมายเลขชานชาลาให้เรารู้ก่อนหรือไม่ แนะนำให้เช็คเทียบกับป้ายไฟบอกขบวนและเวลาที่สถานีอีกที
อีกกรณีนึงที่คนมักจะพลาดกัน ในเวลาที่นั่งรถไฟมาลงที่สถานีนึงเพื่อเปลี่ยนขบวนไปอีกสถานีนึง มักจะสับสนระหว่างเวลาที่มาถึงกับเวลาที่รถไฟขบวนต่อไปจะออก ดูจากตัวอย่างด้านล่าง เรานั่งรถไฟขบวน Shinkansen toki 317 จากสถานี Tokyo เวลา 10:40น. มาถึงสถานี Echigo-Yuzawa เวลา11:59น. มาเปลี่ยนขบวนรถไฟขบวน JR Joetsu Line for Minakami เวลา 12:13น. เพื่อไปลงที่สถานี Minakami(เห็นมั้ยว่าขบวนนี้ยังไม่มีแจ้งหมายเลขชานชาลาให้เราทราบล่วงหน้า) เวลาเราเดินทางไปถึงสถานี Echigo-Yuzawa แล้วให้เดินออกมาจากชานชาลาของ Shinkansen ก่อน แล้วเดินไปที่ชานชาลาของ JR มองหาป้ายไฟบอกขบวนและเวลาเพื่อดูหมายเลขชานชาลา ในที่นี้คือ ขบวน JR Joetsu Line for Minakami เวลา 12:13น.(อย่าดูเป็นเวลา 11:59น.นะ)
ข้อควรระวัง!! ถ้าจะขึ้นรถไฟ Shinkansen ก็ควรจะเดินเข้าไปในชานชาลาของ Shinkansen ก่อนแล้วค่อยมองหาป้ายไฟบอกขบวนและเวลา เดี๋ยวจะสับสนกันระหว่างชานชาลาของรถไฟ JR กับชานชาลาของ Shinkansen เช่นชานชาลาหมายเลข 4 ของ JR กับชานชาลาหมายถึง 4 ของ Shinkansen มันคือคนละที่กัน
สำหรับรถไฟใต้ดิน Subway เราไม่ต้องสังเกตุป้ายไฟบอกเวลาเพราะรถไฟจะมาค่อนข้างถี่ รถไฟจะมาทุกๆ 3-5 นาที(เหมือนกับรถไฟฟ้า BTS บ้านเรา) แต่สิ่งที่ต้องทำคือ ขึ้นให้ถูกฝั่ง!!!
วิธีการสังเกตว่าขึ้นรถไฟถูกฝั่งมั้ย
เมื่อมาถึงสถานีรถไฟ Subway สิ่งที่ต้องทำคือสังเกตป้ายบอกทางของขบวนรถไฟที่เราต้องการจะขึ้น มักจะใช้สีแทนขบวนรถไฟแต่ก็จะมีชื่อขบวนรถไฟกำกับไว้ด้วย
พอเดินมาถึงทางที่จะลงไปชานชาลาของขบวนรถไฟสายนั้น โดยปกติมันจะมีทางลงสองทางคือ ทางลงเบอร์ 1 กับทางลงเบอร์ 2 ทีนี้จะลงฝั่งไหนละ? วิธีการคือ ให้สังเกตที่ป้ายบอกสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่าน ซึ่งทางลงทั้งสองฝั่งจะมีให้ดูอยู่
ตัวอย่างป้ายบอกสถานีที่รถไฟจะวิ่งผ่าน ตรงทางลงชานชาลาของรถไฟใต้ดิน Subway
จากตัวอย่างด้านล่าง สมมุติว่าเราอยู่ที่สถานี Umeda เรากำลังจะไปลงที่สถานี Namba ป้ายของทางลงเบอร์ 1 จะมีชื่อสถานี Namba อยู่ สังเกตสัญลักษณ์บอกทิศทางที่รถไฟจะวิ่งไป ซึ่งมันจะวิ่งผ่านสถานีที่เราจะไป เพราะฉะนั้นเราต้องไปขึ้นรถไฟที่ฝั่งทางลงเบอร์ 1 ในทางกลับกันทางลงเบอร์ 2 จะเป็นฝั่งตรงข้าม รถไฟก็จะวิ่งในทิศทางที่สวนกัน
อีกตัวอย่างนึงจากภาพด้านล่าง สมมุติว่าเราอยู่ที่สถานี Namba จะนั่งกลับไปที่สถานี Umeda เราก็จะต้องไปขึ้นรถไฟในฝั่งของป้ายหมายเลข 2
สรุปคือบริเวณทางลงจะมีป้ายบอกชื่อสถานีและทิศทางที่รถไฟจะวิ่งไป ให้ดูว่ารถไฟวิ่งผ่านสถานีที่เราจะไปที่ฝั่งไหนก็ไปขึ้นฝั่งนั้น
สัญลักษณ์ต่างๆบนพื้นชานชาลา
-แถวบนสุด เป็นขบวน Local วิ่งไปลงที่ Takatsuki รถไฟจะมาจอดในชานชาลาเบอร์ 7(สังเกตุจากลูกศร ชี้ไปทางชานชาลาเบอร์ 7) รถไฟจะมาถึงชานชาลาเบอร์ 7 และออกเวลา 8:47 ส่วนสัญลักษณ์ วงกลม 1 - 7 มันจะเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ที่อยู่ตรงพื้น(ดูตัวอย่างจากรูปถัดไป) ก็หมายความว่า ให้เราไปยืนรอตรงแถวที่เป็นสัญลักษณ์วงกลม โบกี้หมายเลข 1-7
-แถวที่สอง เป็นขบวน SRAPID(ด่วนพิเศษ) วิ่งไปลงที่ Omi-Imazu รถไฟจะมาจอดในชานชาลาเบอร์ 8 และออกเวลา 8:45 แต่อาจจะมาช้า 8 นาที(8 minutes behind) สามารถไปยืนรอตรงแถวที่เป็นสัญลักษณ์สามเหลี่ยม ตั้งแต่โบกี้หมายเลข 1-12
อธิบายเท่านี้คงพอเข้าใจนะ แต่เวลาจะไปยืนรอที่แถวตามรูปสัญลักษณ์บนพื้น ให้สังเกตเวลาและชื่อขบวนรถไฟให้ดีด้วยว่าใช่ขบวนที่เราจะขึ้นหรือป่าว สังเกตจากตัวอย่างที่ป้ายไฟ ขบวนรถไฟแถวที่ 1 กับแถวที่ 4 มันให้ไปยืนรอที่ตำแหน่งเดียวกันเลย แต่เวลาที่รถไฟจะเข้ามาจอดที่ชานชาลาเบอร์ 7 เป็นคนละเวลา แต่ใกล้เคียงกัน ถ้าเราจะขึ้นขบวนที่ไป Kyoto แล้วเราดันไปถึงก่อนเวลา ระวังไปขึ้นผิดขบวน เผลอไปขึ้นขบวนที่จะไป Takatsuki แทน( ดูจากเวลา ขบวน Takatsuki จะต้องออกจากชานชาลาก่อนขบวนที่จะไป Kyoto ถ้ามันยังแสดงอยู่บนป้ายไฟ แสดงว่ามันยังไม่ไป ถ้าออกไปแล้วมันจะหายไปจากป้ายไฟ)
ตัวอย่างสัญลักษณ์บนพื้น สามเหลี่ยมและวงกลมบอกว่าเป็นแถวของรถไฟขบวนไหน ส่วนเลข 6 หมายถึงเป็นแถวที่ตรงกับตู้โบกี้หมายเลข 6
อีกวิธีนึงในการสังเกตว่าขึ้นถูกขบวนมั้ยคือให้ดูข้างตู้โบกี้ที่แสดงชื่อขบวนรถไฟ ก็ดูว่ามันเป็นขบวนเดียวกับที่เราจะขึ้นมั้ย ตัวอย่างด้านล่าง ชื่อขบวนรถไฟคือ Sakura 561 สถานีปลายทางคือ Kagoshima Chuo โบกี้นี้เป็นโบกี้สำหรับผู้โดยสารที่สำรองที่นั่งไว้(Reserved) และห้ามสูบบุหรี่
สัญลักษณ์ตรงพื้นชานชาลามันมีมากมายหลายแบบ ตัวอย่างที่เห็นด้านล่าง เอาทางซ้ายสีเขียวก่อน คือบอกว่าเป็นแถวของรถไฟขบวน Mizuho/ Sakura/ Hikari และ Kodama รถไฟขบวนดังกล่าวจะมีทั้งหมด 8 โบกี้ และแถวที่ยืนอยู่จะตรงกับตู้โบกี้ที่ 5 ส่วนสีเหลืองฝั่งขวา คือแถวสำหรับรถไฟขบวน Nozomi กับ Hikari รถไฟขบวนดังกล่าวจะมีทั้งหมด 16 โบกี้ และแถวที่ยืนอยู่จะตรงกับตู้โบกี้ที่ 9 (จะสังเกตว่าตรงแถวสีเขียวก็มีขบวน Hikari เหมือนกัน คราวนี้ก็ต้องดูที่ป้ายไฟด้านบนประกอบ)
อันนี้เป็นตัวอย่างว่ารถไฟที่มาถึงเป็นของแถวสีเหลือง แถวนี้ตรงกับตู้โบกี้ที่ 10
อย่าลืมสังเกตด้วยว่าตู้โบกี้ไหนเป็นตู้โบกี้ที่ต้องหรือไม่ต้องสำรองที่นั่ง สังเกตุที่ป้ายไฟ สัญลักษณ์ที่พื้นชานชาลา และที่ด้านข้างตู้โบกี้รถไฟ
2. เมื่อเดินมาถึงชานชาลาแล้ว
-สำหรับรถไฟ JR และ SHINKANSEN
ให้ดูชื่อขบวนรถไฟและเวลารถไฟออกที่ป้ายไฟว่ามีตรงกับขบวนที่เราจะนั่งมั้ย แล้วดูหมายเลขชานชาลา พอเดินไปถึงชานชาลานั้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือ "ยืนให้ถูกแถวขึ้นให้ถูกขบวน"
-สำหรับรถไฟใต้ดิน SUBWAY
ให้สังเกตป้ายบอกทาง สีของขบวนรถไฟที่เราจะนั่งแล้วเดินตามทางไป พอถึงทางลงชานชาลารถไฟ สิ่งที่ต้องทำคือ "ลงให้ถูกทาง ขึ้นให้ถูกฝั่ง"
อธิบายซะยืดยาว สรุปมาให้เหลือ 2 ข้อ ง่ายมั้ย? หวังว่าจากนี้ไป คงจะไม่งงไม่หลงแล้วนะครับ☺